วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

การพิจารณารักไทย รักจีน รักญี่ปุ่น และรักต่างประเทศอื่นๆ

การพิจารณารักไทย รักจีน รักญี่ปุ่น และรักต่างประเทศอื่นๆ


Pic_764380_1


“รัก” ที่นำมาใช้ในวงการพระเครื่อง ตลอดจนการทำเครื่องเขิน ลงรักปิดทอง งานจิตรกรรม สถาปัตยกรรม


เป็น ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูล ANCARDIACERE ในประเทศไทยทางเหนือเรียกว่า “รักหลวง” เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่กิ่งก้านแน่นหนาคล้ายต้นยาง ใบใหญ่คล้ายมะม่วง ดอกออกเป็นพุ่ม มีดอกเล็กๆ คล้ายต้นสัก และสามารถให้ “ยางรัก” ได้ จะต้องมีอายุมากกว่า 10 ปี


ส่วน “รักต่างประเทศ” ที่มีคุณภาพ และเป็นที่มาของการพิจารณาพระที่มี “รัก” ได้แก่ รักจีน และรักญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกมาตั้งแต่สมัยโบราณ เมืองไทยซื้อรักจากจีนมาจนกระทั่งสิ้นสุดราชวงศ์เช็งจึงงดการส่งออกรัก จนมาพบ “รักจีน” อีกครั้งเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในการบูรณะ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ในคราวฉลองกรุง 200 ปี อันเนื่องมาจากพระอัจฉริยภาพและการเจริญสัมพันธไมตรี จึงได้รักจากจีนมาช่วยในการบูรณะสถาปัตย กรรมในวัดพระแก้วในคราวนั้น


นอกจากนี้ ยังมีรักเวียดนามและรักไต้หวัน แต่คุณภาพจะสู้รักจีนและรักญี่ปุ่นไม่ได้ ความนิยมจะใกล้เคียงกับ รักไทย รักพม่า และรักกัมพูชา ซึ่งเป็นรักสายพันธุ์เดียวกัน


ตั้งแต่ โบราณมาผู้คนนิยมใช้ “รัก” ใน การจัดสร้างพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง เพราะรักจะมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถรักษาเนื้อพระและสภาพองค์พระให้สมบูรณ์ แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานนับร้อยปี ส่วนคำว่า “จุ่มรัก” หมายถึง การนำพระทั้งองค์จุ่มลงไปใน รักดิบ หรือยางรัก แล้วผึ่งให้แห้ง วัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อเป็นการรักษามวลสารของพระเครื่องเอาไว้ เช่น พระสมเด็จ ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และในขณะที่ผึ่งองค์พระที่จุ่มรักให้พอแห้งหมาดๆ แล้ว ถ้านำทองคำเปลว มาติดบูชา ก็จะสามารถติดได้แน่นสนิทสวยงามเป็น อันมาก


เป็นที่ น่าแปลกใจที่ “พระแท้” เท่าที่พบ โดยเฉพาะ พระเครื่อง พระปิดตา และเครื่องรางประเภทตะกรุดลูกอมของเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังนั้น มักยึดหลักการดู “รัก” เป็นส่วนใหญ่ และบรรดาคณาจารย์เหล่านั้นจะใช้ “รักจีน” ในการจัดสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ อาทิ เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นต้น


ดังนั้น การจำแนก “รักจีน” จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณา “พระเครื่องแท้” เพราะคุณสมบัติของ “รักจีน” แตกต่างจาก “รักไทย” ดังนี้


– รักจีนมีสีน้ำตาลอมแดง ส่วนรักไทยสีดำสนิท


– รักจีนจะมีความบริสุทธิ์ของยางรักมากกว่ารักไทย จะไม่ปนเปื้อนด้วยเศษไม้หรือเป็นฟองพรุนของอากาศ


– เนื้อรักไทยจะแห้งตัวสม่ำเสมอ ไม่หดตัวเป็นริ้วคลื่น อันส่งผลให้เมื่อล้างรักออกไม่เกิดการ “แตกลายงา” เหมือนรักจีน


– รักจีนมีคุณสมบัติพิเศษคือ แห้งเร็ว ดังนั้น จะพบพระเครื่องบางองค์ “จุ่มรัก” หลายครั้ง ซึ่งหากเป็นรักไทยจะไม่พบการจุ่มเป็นชั้นๆ


– เนื้อของรักจีนจะมีความละเอียดเหนียวกว่า และละลายตัวในเมทิล แอลกอฮอล์เร็วกว่ารักไทย


– รักจีนจะมีอายุคงทนยาวนานมาก


สำหรับ โบราณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงด้าน พระสมเด็จโดยตรง ในแต่ละวันได้พิจารณาตรวจสอบองค์พระสมเด็จหลายๆ องค์ ก็จะสามารถสันนิษฐานได้ว่าพระสมเด็จองค์นั้นเป็นพิมพ์อะไร แต่การที่จะชี้ชัดลงไปว่าแท้หรือไม่นั้น คงจะต้องกลับมาพิจารณาจากสภาพ “รัก” เป็นหลักเช่นกัน ภาษาทางวงการพระเรียกว่า “ซื้อเสี่ยง” เพราะไหนจะต้องเสี่ยงว่าเก๊หรือแท้ ชำรุด-หัก-ซ่อม-บิ่นหรือไม่ อีกทั้งยังไม่สามารถมองเห็นความสมบูรณ์ ความลึก ความคมชัดสวยงามขององค์พระได้ชัดเจน ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงมักใช้วิธีการล้างรักหรือถอดรักจากองค์พระสมเด็จ ในกรณีการล้างรักนี้จะยกเว้นสำหรับพระสมเด็จที่ “ลงรักน้ำเกลี้ยง” เพราะองค์พระเครื่องยังทรงคุณค่าเช่นเดิม คือสภาพจะตึงเรียบเป็นมันวาว เน้นให้เห็นความลึกและความคมชัดสวยงามขององค์พระอย่างเด่นชัด


นอกจากนี้ โบราณาจารย์บางท่านจะใช้วิธีเอาน้ำค่อยๆ หยดลงบนองค์พระเพื่อตรวจสอบความเก่าของเนื้อรัก และอาจจะพบร่องรอยการหักชำรุดขององค์พระก่อนการล้าง หรือบางครั้งเมื่อรักค่อยๆ ละลายตัวระหว่างการล้างก็ทราบแล้วว่าเป็นพระเครื่องแท้หรือพระเก๊



คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง
โดย ราม วัชรประดิษฐ์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น