วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วีรศักดิ์ พรหมภักดี ห้อยพระแก้วมรกต-หลวงปู่ฝั้น

วีรศักดิ์ พรหมภักดี ห้อยพระแก้วมรกต-หลวงปู่ฝั้น

"ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านพระเครื่องขั้นสุดยอด อาศัยการหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และมีพระเครื่อง วัตถุมงคลมาก เพราะได้จากการไปทำบุญบ้าง พระท่านให้มาบ้าง ต่อมาสะสมมากขึ้น ก็มอบให้คนรู้จักไปบ้าง ให้ไปโดยไม่ต้องใช้เงินทองมาเช่าบูชา ด้วยการให้พระถือว่าเป็นการให้ความดี บางทีท่านมาอยู่กับเรา ก็พอสมควรได้บุญบารมีท่านช่วย มีคนอื่นอยากได้ก็ให้ไป" วีรศักดิ์ พรหมภักดี อดีตนายกอบจ. สกลนคร เกริ่น

หนุ่มใหญ่วัยกลางคนที่มีชีวิตผูกพันอยู่กับวัดตั้งแต่สมัยเป็นเด็กเรียน หนังสือ พ่อแม่มักพาไปวัดทุกครั้งที่มีโอกาส และแทบจะไม่เว้นทุกเสาร์อาทิตย์ หลายครั้งที่มักจะขอเหรียญหรือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ได้มาจากพระ

"ท่านบอกอยู่เสมอว่าการห้อยพระขึ้นคอหากเราทำไม่ดีพระก็ไม่ได้ช่วยอะไร การห้อยพระนั้นท่านว่าให้เราคิดดี นึกดี ไม่เกเร ตั้งใจเรียนหนังสือเป็นเด็กดีของพ่อแม่ และถึงพ่อแม่จะจนมีอาชีพทำนา ก็สามารถส่งเสียลูกเรียนหนังสือได้ ขอให้ตั้งใจเรียน และท่านก็มักสอนว่า คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกเป็นได้"

เคยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และบรรดาครอบครัวพี่น้องก็ทำงานในสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร จนถูกขนานนามว่า นายก อบจ.ลูกชาวนา ซึ่งไม่ได้น้อยอกน้อยใจกับสิ่งที่เขาเรียก แต่กลับภูมิใจ เพราะเราเกิดมาจากชาวนาจริงๆ และสามารถมานั่งในจุดนี้ได้

"ผมเป็นลูกชาวบ้านหลานชาวนาโดยกำเนิด ดังนั้น จึงมีความใกล้ชิดวัดมากหน่อย เพราะคนชนบทมักจะพาลูกหลานเข้าวัดตั้งแต่อายุยังน้อย เด็กๆ ก็ตามคุณพ่อ คุณแม่ ไปวัด"

ไปวิ่งเล่นและได้ขนมจากหลวงพ่อ-หลวงพี่ที่วัด ให้ความเมตตา ให้มากินกัน ดังนั้น คนรุ่นเก่าจึงเข้าวัด ไม่เหมือนปัจจุบันเด็กมักพากันกลัววัด หากจะเข้าวัดก็มีหลากหลายเรื่องที่ทำให้จำเป็นต้องเข้าไป คือ ดูดวง ดูโชคลาภ ขอหวย และทำเสน่ห์ ก็มี ดังนั้น จึงมองว่าเป็นการเข้าไปหาผลประโยชน์ใช้วัดในทางไม่ถูกต้อง

หากพูดถึงพระที่คล้องคอ ด้วยความเป็นชาวสกลนครต้องมีอย่างน้อย 'หลวงปู่ฝั้น อาจาโร' พระวิปัสสนาจารย์ชื่อดัง หากไม่มีวัตถุมงคลหลวงปู่ฝั้นอย่างนี้ แทบบอกไม่ได้ว่าคนสกลนครจริง แต่ความจริงบางคนก็นับถือท่าน แต่ไม่ได้นำไปห้อยคอก็มี

ส่วนพระองค์อื่นๆ มีแขวนประจำสลับไปมา คือ พระแก้วมรกต องค์นี้แขวนสลับกันเป็นประจำ ทั้งนี้ พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย มีความเชื่อกันว่าพระแก้วมรกตไปประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใดที่แห่งนั้นจะมีแต่ความสุขเจริญรุ่งเรือง

ส่วนพระเครื่ององค์อื่นๆ ได้มาจากคนที่เคารพนับถือให้มา เราก็นำไปเลี่ยมใส่กรอบนำไปแขวนขึ้นคอ

ส่วนวิธีการห้อยคอก็ไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด ด้วยเราเคยผ่านวัดมาแล้ว เพียงแค่สวดมนต์ตั้งนะโม 3 จบ ภาวนาสวดพุทธคุณย่อ นึกถึงคุณงามความดี คุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ให้ปกปักรักษาเราตลอดไป ขอให้ทำในสิ่งที่ดี คิดดี ทำดี เท่านี้ก็คล้องคอได้

บางคนมีพระ แต่พูดไม่ดีหรือกระทำไม่ดี พระก็ไม่คุ้มครอง อย่างน้อยเราต้องมีศีลติดตัว เช่น ศีลห้าทุกคนต้องมีและรักษา ไม่ใช่รู้ศีลแต่ไม่ปฏิบัติตาม ก็ไร้ประโยชน์

"สิ่งที่ทำให้มีเมตตา มหานิยม ค้าขายดี มีกำไร คนรักคนหลง ไม่ต้องไปแสวงหา อุปกรณ์หรือสิ่งที่ว่าเป็นวัตถุมงคลจากที่ใด ผมเชื่อว่าการที่คนเรารักษาศีลห้าได้ครบและพร้อมสรรพ เป็นสิ่งประเสริฐทำให้สัมฤทธิผลที่ปรารถนาได้ ไม่เชื่อก็ลองรักษาศีลห้าให้ได้ ลองดู แล้วจะเห็นผล มีพระดี แต่ไม่มีศีลก็ไร้ค่า ผมเชื่ออย่างนั้น"

คอลัมน์ มองอย่างเซียน
สุพจน์ สอนสมนึก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น