วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

"พระเสริม" แท้และเทียม [คำคมคารมเซียน]

"พระเสริม" แท้และเทียม [คำคมคารมเซียน]

ตั้งแต่วัตถุมงคลถูกทำให้กลายเป็นสินค้าขายได้...มีราคา บรรดาพุทธวานิชจึงคิดค้นหาหน ทางทุกสิ่ง เพื่อให้พระที่ควรอยู่บนหิ้งบนคอไว้บูชา เปลี่ยนเป็นเงินตราเข้ากระเป๋า ในตอนนี้จึงมีแง่มุมที่นักส่องน้องใหม่ควรต้องศึกษา ผ่านศัพท์เซียนอีกหนึ่งคำที่รู้จักกันดีว่า..."พระเสริม"

พระเสริม : พระเครื่องฯ ที่ถูกสร้างเพิ่มเติมภายหลังในรูปแบบเดิม คำว่า "พระเสริม" ในที่นี้ อย่าเข้าใจว่าคือ "หลวงพ่อพระเสริม" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ พระวิหารวัดปทุมวนารามฯ แต่หมายถึงพระเครื่องรางต่างๆ ที่จัดสร้างขึ้นใหม่ภายหลัง

โดยใช้บล็อกแม่พิมพ์เดียวกันกับที่จัดสร้างในครั้งแรก แต่คนละช่วงเวลา รูปแบบจึงคล้ายกันเกือบทุกประการ แตกต่างกันที่รายละเอียดบางเรื่อง ทั้งด้านมวลสาร-เนื้อหา หรือเจตนาและพุทธพิธีปลุกเสก ต้องเล่าย้อนถึงตอนแรกๆ ของการสร้างพระเครื่องยุคใหม่ ที่ได้นำเครื่องจักรทันสมัยเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิต เกิดการประดิษฐ์เครื่องมือทุ่นแรง เป็นอุปกรณ์แม่พิมพ์ราคาแพงที่เรียกว่า "บล็อก"

ในยุคนั้น...ผู้สร้างหรือวัดจึงตกลงให้การจัดจ้างไม่นับรวมถึงเจ้าสิ่งนี้ ทุกครั้งที่สร้างพระเครื่องแล้วเสร็จ บล็อกจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน เมื่อทางวัดจำหน่ายจ่ายแจกจนหมด และต้องการพระเพิ่มเติม ก็จะสั่งให้โรงงานสร้างพระมาเสริมได้ในทันที โดยไม่ต้องมีการทำบล็อกขึ้นมาใหม่ ไม่มีใครคิดว่าพระองค์เล็กๆ ในวันนั้น จะมีมูลค่าราคาแพงในวันนี้ เจตนาก็เพียงแค่อยากให้สาธุชนมีของดีไว้ใช้บูชา

โรงงานเองก็ไม่เห็นคุณค่า บล็อกที่เก็บไว้จึงไม่มีการดูแลรักษา เกิดเป็นสนิม...กัดกร่อน เมื่อนำมาพิมพ์-ปั๊มพระครั้งใหม่ แม้มีขั้นตอนตีแปรงแต่งบล็อกอย่างไร ก็ยังมีให้เห็นเป็นเม็ดผดนูนน้อย-ใหญ่ ที่เรียกว่า "กลาก" บนผิวพระ ยิ่งทำซ้ำยิ่งชำรุดเสียหาย เกิดเป็นรอยแยก...แตกในบล็อก

นอกจากสวยน้อยลง ตำหนิที่ปรากฏเหล่านั้นยังนำไปสู่การแยกแยะแบ่งเกรดเป็น...พระเสริม ตัวอย่างเหรียญหลวงพ่อเดิม พิมพ์ต้อ ที่สร้างปี 2482 ของวัดหนองโพธิ์ ก็มีเสริม เหตุเกิดในปี 2484-2489 ได้มีการจัดสร้างขึ้นใหม่โดยวัดหนองบัว คนสมัยก่อนไม่คิดซับซ้อนจึงว่ากันแบบเรียบง่ายและประหยัด

อาศัยบล็อกของวัดหนองโพธิ์อันเดิม ที่โรงงานเก็บไว้นั่นแหละมาสร้างเสริม แตกต่างกันที่ครั้งหลังมีกลากและหูในตัว ส่วนครั้งแรกเป็นหูห่วงเชื่อม รูปหล่อเหมือนปั๊มที่แยกเป็นพิมพ์ A-B-C-D ของหลวงพ่อเดิม (อีกที) ก็คือพระเสริม ตั้งแต่เริ่มการจัดสร้างในครั้งที่ 2 ทุกทีที่สร้างซ้ำ จะเกิดตำหนิตามส่วนต่างๆ บนองค์พระเพิ่มขึ้นๆ

ทั้งรอยผด รอยแตก และความตื้น-บางของพิมพ์พระ อักขระตัวหนังสือก็ทยอยล้ม...เลือนราง ที่สุดต้องแกะบล็อกด้านหน้าขึ้นมาใหม่ แต่บล็อกด้านหลังยังพอใช้การได้ ทำให้มีจุดจดจำให้สังเกต เป็นสาเหตุของการเรียกบล็อกนี้ว่า..."คอตึง" พระเสริมบางส่วนก็เกิดจากโรงงานที่ต้องผลิตเผื่อ เพื่อคัดแต่พระสภาพสวยๆ...ส่งวัด

จึงเหลือพระจำนวนจำกัด ไม่มากไม่น้อยตกหล่นที่โรงงาน จุดประกายให้ในเวลาต่อมา บรรรดานักสร้างพระทั้งหลาย จึงแอบใช้วิธีทำเสริม ซุกซ่อนเอาไว้มากมาย เลยไปถึงการขโมยบล็อก แล้วลักลอบนำออกไปผลิตขึ้นใหม่ภายหลัง พอพระรุ่นนั้นๆ โด่งดัง จึงนำออกมาเทขายได้ราคา

จึงไม่ต้องแปลกใจ ว่าทำไมพระยุคใหม่มักให้ความสำคัญกับการตอกโค้ด-ตอกเลขกันนอกโรงงาน ระบุจำนวนการสร้างอย่างชัดเจน ทำลายบล็อกและโค้ดให้เห็นพร้อมประกาศกันอย่างครึกโครม ทั้งหมดเพื่อรับประกันให้นักสะสมมั่นใจ ก็เพราะพระเครื่องที่สร้างดั้งเดิม กับพระที่สร้างเสริมนั้นแยกแยะกันยาก

ลำบากตรงที่เหมือนกันทุกประการ แต่ต่างกันที่ไม่ได้ปลุกเสก สิ่งที่ใช้ในการพิสูจน์กลับเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น เถียงคอเป็นเอ็นได้เลยว่า...ไม่ปลอม แต่ขลังรึเปล่า...ไม่รู้!

คำคมคารมเซียน

วิเชียร ฤกษ์ไพศาล

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น