วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประวัติการค้นพบ พระถ้ำเสือ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ประวัติการค้นพบ พระถ้ำเสือ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

budd2576

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระถ้ำเสือเป็นพระที่ถูกพบอยู่ในถ้ำ ของเขตอำเภออู่ทอง และมีการพบกันหลายครั้งและหลายถ้ำอีกด้วย วันนี้เรามาคุยกันถึงมูลเหตุการพบและตั้งชื่อพระถ้ำเสือ จังหวัดสุพรรณบุรี ว่ามีความเป็นมาอย่างไรดีกว่านะครับ

อำเภออู่ทองเดิมมีชื่อเรียกว่า อำเภอจรเข้สามพัน ทางราชการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอำเภออู่ทอง ในราวปี พ.ศ.2483 การพบพระถ้ำเสือก็พบในอำเภอนี้ เคยมีผู้ที่เข้าไปเก็บมูลค้างคาวแล้วก็พบพระถ้ำเสือติดปะปนมากับมูลค้างคาวกันนานแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจนำพระออกมา ต่อมาเมื่อนางอิ่ม เหมือนศรี ชาวบ้านตำบลเนินพลับพลา เป็นนักหาของป่าและมูลค้างคาว วันหนึ่งในปี พ.ศ.2487 นางอิ่มกับลูกชาย พร้อมกับญาติๆ ไปหามูลค้างคาวที่เขาเสือ (ตามหลักฐานศิลปากรว่าเป็นเขาคอก แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า เขาเสือ เขาถ้ำเสือ หรือเขาคอก ก็คือภูเขาลูกเดียวกัน) ขณะที่เก็บมูลค้างคาวอยู่นั้น ก็พบพระเนื้อดินเผาปะปนอยู่กับมูลค้างคาว ในครั้งแรกนั้นก็พบพระไม่กี่องค์ และก็ไม่ได้สนใจอะไรนัก แต่ก็เก็บเอามาบ้านสัก 7-8 องค์ แล้วเอามาแจกพรรคพวกเพื่อนฝูงไปบ้าง ต่อมาเมื่อเข้าไปเก็บมูลค้างคาวในถ้ำแห่งนี้อีกก็พบพระอีกมากมาย นับเป็นร้อยองค์

จึงได้นำพระออกมาไว้ที่บ้าน วันหนึ่งก็ได้นำพระติดตัวไปขายที่ตลาดอู่ทอง ขายได้องค์ละ 10 บาทบ้าง 2-3 บาทบ้าง ข่าวการพบพระที่ถ้ำเสือ ก็เริ่มแพร่ออกไปและมีคนสนใจพระถ้ำเสือมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ที่พกพระถ้ำเสือติดตัวเกิดมีประสบการณ์ทางอยู่ยงคงกระพัน ต่างก็เล่าลือกันไปทำให้มีคนเข้าไปเอาพระในถ้ำกันมากขึ้น

พระถ้ำเสือเมื่อรู้จักกันดีในบรรดาชาวบ้านอู่ทองแล้ว ก็เริ่มมีความนิยมแพร่หลายไปในตัวจังหวัดสุพรรณบุรี และเริ่มมีผู้ที่ได้รับประสบการณ์มากขึ้น ก็เป็นที่แสวงหากันมากขึ้นโดยลำดับ พระที่อยู่ในถ้ำเสือก็หมดไปจากถ้ำแห่งนี้ แต่ก็มีคนเที่ยวค้นหาพระตามถ้ำต่างๆ อีกหลายๆ ถ้ำ และก็มีผู้พบพระในถ้ำอื่นๆ อีกเช่น ถ้าเขานกจอด เขากระจิว พบในเจดีย์ที่เขาพระ วัดหลวง และที่เขาดีสัก เป็นต้น การพบพระในที่ต่างๆ ในเขตอำเภออู่ทองนี้ พุทธลักษณะจะคล้ายๆ กันมาก และต่างก็เรียกชื่อกันว่าพระถ้ำเสือทั้งสิ้น พระที่พบแบ่งออกได้หลายขนาด คือ พระพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก และพิมพ์จิ๋ว แต่พระพิมพ์กลางและพิมพ์เล็กก็ยังสามารถแบ่งแยกออกเป็นแม่พิมพ์ได้อีกหลายพิมพ์ เช่น พระพิมพ์กลางยังแยกเป็นพิมพ์หน้าหนุ่ม พิมพ์หน้าฤๅษี พิมพ์เล็กแยกได้เป็น พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้าหนุ่ม พิมพ์หน้านาง เป็นต้น พระถ้ำเสือที่พบนั้นเป็นพระเนื้อดินเผาทั้งสิ้น ออกเป็นประเภทเนื้อดินผสมกรวด

ปัจจุบันสนนราคาของพระถ้ำเสือค่อนข้างสูง จึงมีการปลอมแปลงกันหลากหลายฝีมือ ถ้าจะเล่นหาก็ต้องศึกษาให้ดีก่อนเช่าหาครับ พุทธคุณของพระถ้ำเสือนั้นเด่นทางด้านอยู่ยงคงกระพันและแคล้วคลาด

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระถ้ำเสือ พิมพ์เล็กหน้าแก่ มาให้ชมกันครับ

ชมรมพระเครื่อง
แทน ท่าพระจันทร์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น