วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระร่วงหลังรางปืนและพระร่วงหลังลายผ้า สองยอดขุนพล ความเหมือนที่ต่าง

พระร่วงหลังรางปืนและพระร่วงหลังลายผ้า สองยอดขุนพล ความเหมือนที่ต่าง

พระร่วงหลังรางปืน และ พระร่วงหลังลายผ้า นั้น ถูกค้นพบกันคนละเวลาคนละสถานที่ แต่ก็นับเป็นพระยอดนิยมเนื้อชินและได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในพระยอดขุนพล ที่มีค่านิยมสูงในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องทั้งสองพิมพ์นี้ แม้สนนราคาจะแตกต่างกันตามอายุขององค์พระก็ตาม

พระร่วงหลังรางปืน เป็นพระยอดขุนพลเนื้อชิน ค้นพบที่บริเวณหน้าพระปรางค์องค์ใหญ่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ในคราวแตกกรุเมื่อประมาณปีพ.ศ.2493 พระที่พบมีจำนวนน้อยมากเพียง 200 กว่าองค์เท่านั้น อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นพระที่ชำรุดแตกหัก แต่ด้วยพุทธลักษณะที่อ่อนช้อยงดงามแต่แฝงด้วยความเข้มขลัง กอปรกับมีพุทธคุณเป็นเลิศครบครัน จึงได้รับการยกย่องให้เป็น 'จักรพรรดิแห่งพระเนื้อชิน' เป็นที่นิยมและแสวงหากันอย่างกว้างขวาง แต่ด้วยจำนวนพระน้อยมาก ทำให้สนนราคาเช่าหาจัดได้ว่าสูงที่สุดสำหรับพระพิมพ์ประเภทเดียวกัน

พุทธศิลปะของพระร่วงหลังรางปืน จะเป็นแบบเขมรยุคบายน มีอายุในราวปีค.ศ.13 ซึ่งเป็นสมัยที่ขอมเรืองอำนาจ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพิมพ์ที่ขอมเป็นผู้สร้างและบรรจุไว้ในพระปรางค์ พระส่วนใหญ่ที่พบเป็นพระเนื้อชินตะกั่ว ผิวองค์พระจะมีสีแดงเข้ม บางองค์ออกสีลูกหว้า ลักษณะพิเศษ คือ จะมีไขคลุมอีกชั้นหนึ่งและมีมากกว่าพระร่วงกรุอื่นๆ

พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับยืน แสดงปางประทานพร อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ยอดซุ้มเป็นลายกระหนกแบบ 'ซุ้มกระจังเรือนแก้ว' ด้านหลังมีเอกลักษณ์เฉพาะคือ มีร่องกดลึกลงไปเป็นแนวยาวตลอดองค์พระ ซึ่งเรียกกันว่า 'หลังกาบหมากหรือหลังร่องกาบหมาก' ต่อมาปรากฏพุทธคุณเป็นที่ประจักษ์ด้านแคล้วคลาดในเรื่อง 'ปืน' อีกทั้งร่องกาบหมากนั้นมีลักษณะคล้าย 'ร่องปืนแก๊ป' จึงขนานนามพระว่า "พระร่วงหลังรางปืน" มีทั้งหมด 5 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ ฐานสูง, พิมพ์ใหญ่ ฐานเตี้ย, พิมพ์แก้มปะ, พิมพ์หน้าหนุ่ม และพิมพ์เล็ก

พระร่วงหลังรางปืน เป็นพระพิมพ์เก่าแก่ที่ทรงคุณค่าทั้งด้านพุทธลักษณะและพุทธคุณ อันเป็นที่นิยมและใฝ่หาของบรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องและพุทธศาสนิกชนอย่างถ้วนทั่ว ผู้ที่มีไว้ครอบครองก็ต่างหวงแหนยิ่งนัก และด้วยจำนวนการค้นพบมีน้อยมาก สนนราคาจึงสูงเอามากๆ และการทำเทียมเลียนแบบก็สูงมากด้วย

ส่วน พระร่วงหลังลายผ้า แตกกรุครั้งแรกประมาณปีพ.ศ.2430 ที่พระปรางค์ประธาน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี ต่อมามีการแตกกรุอีก 2 ครั้ง คือ ปีพ.ศ.2455 และ ปีพ.ศ.2458 ในบริเวณใกล้เคียงกัน พบพระจำนวนหนึ่งขึ้นปะปนกันหลายประเภท

ล่วงมาถึงปีพ.ศ.2515 ได้มีการขุดค้นพบอีกครั้งที่บริเวณโรงเรียนช่างกลละโว้ ซึ่งเดิมเคยเป็นวัดเก่ามาก่อน ได้พบพระร่วงหลังลายผ้าประมาณ 200 องค์ เป็นพระพิมพ์เดียวกับของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุทุกประการ จะผิดกันที่สนิมขององค์พระที่มีสีแดงเข้มกว่าและขนาดบางกว่า เข้าใจว่าจะเป็นพระที่สร้างในคราวเดียวกันแต่แยกบรรจุคนละที่ จึงเรียกว่า "พระร่วงกรุช่างกล" นอกจากนั้น ยังพบพระพิมพ์อื่นๆ อีกหลายพิมพ์

เมื่อพิจารณาจากความเก่าของเนื้อองค์พระและพุทธศิลปะแล้ว พระร่วงหลังลายผ้าน่าจะมีอายุอยู่ในราว 800 ปี ซึ่งในสมัยนั้นเป็นสมัยที่พวกขอมเรืองอำนาจ และขยายอาณาเขตเข้ามาปกครองเมืองละโว้หรือลพบุรีด้วย จึงน่าจะสันนิษฐานประการที่ 1 ได้ว่า เป็นพระที่สร้างโดยพวกขอมเช่นเดียวกับพระร่วงหลังรางปืน และประการที่ 2 ด้วยพุทธศิลปะองค์พระที่สง่างามและทรงเครื่องแบบกษัตริย์อย่างอลังการ จึงน่าจะเป็นกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองแคว้นเป็นผู้สร้าง

พระร่วงหลังลายผ้า มี 2 เนื้อ คือ เนื้อชินเงินและตะกั่วสนิมแดง พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับยืน แสดงปางประทานพร มีพุทธศิลปะแบบศิลปะเขมรยุคบายน แบ่งแยกพิมพ์ได้ 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ ซึ่งเรียกว่า "พิมพ์นิยม" และพิมพ์เล็ก ส่วนพิมพ์ด้านหลัง เป็นหลังลายผ้าซึ่งคงจะเป็นผ้ากระสอบที่ใช้ปิดลงบนหลังแม่พิมพ์เมื่อเทโลหะแล้วกดเล็กน้อยเพื่อให้ด้านหน้าเต็มพิมพ์ จึงนำมาขนานนามองค์พระ

"พระร่วงหลังลายผ้า" นับเป็นพระที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นเลิศ พุทธคุณก็เป็นที่ปรากฏทั้งด้านคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม และโชคลาภ แบบครบเครื่องครบครัน เรียกได้ว่าพอๆ กับ "พระร่วงหลังรางปืน" ทีเดียว อีกทั้งยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีสำคัญอันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของขอมสมัยเรืองอำนาจ รวมถึงลัทธิเทวราชากับพุทธแบบมหายานที่แพร่หลายเข้ามาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงทำให้เป็นที่นิยมและแสวงหาของนักนิยมสะสมพระเครื่องและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ปัจจุบัน พระร่วงหลังลายผ้า ได้ถูกบรรจุในชุดยอดขุนพลที่หายากที่สุดพิมพ์หนึ่ง สนนราคาเช่าหาจึงค่อนข้างจะสูงมากๆ แต่หากผู้ใดมี "พระร่วงหลังลายผ้า" ไว้ในครอบครอง ก็เหมือนกับมี "พระร่วงหลังรางปืน" เช่นเดียวกันครับผม

พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น