วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประวัติ องค์พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และพระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู

ประวัติ องค์พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และพระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงพระเครื่องรุ่นเก่าๆ ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยได้พบเห็นกัน นับวันแทบจะไม่มีใครพูดถึง แต่พระเครื่องที่เป็นพระกรุพระเก่านั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ทำให้เรารู้ถึงประวัติความเป็นมาของบรรพชนในอดีต พระเครื่องที่ผมจะพูดถึงในวันนี้คือพระร่วงยืนเปิดโลกซุ้มประตู วัดมหาธาตุ เพชรบูรณ์ครับ

วัดมหาธาตุ เป็นวัดคู่เมืองเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ตำบลในเมืองห่างที่ว่าการอำเภอเมืองประมาณ 200 เมตร มีพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ส่วนยอดพระเจดีย์หักพังไปแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า วัดนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ก่อนปีพ.ศ.2483 วัดมหาธาตุมีสภาพเกือบเป็นวัดร้างเสนาสนะมีเพียงกุฏิสงฆ์ 1 หลัง กับศาลาการเปรียญเก่าที่ใช้การเกือบไม่ได้ 1 หลัง พระอุโบสถก็เหลือแต่ฝาผนังอิฐเท่านั้น จนต้นปีพ.ศ.2483 พระเพชรบูรณ์คณาวสัย (แพ) สมัยพระครูวินัยธรได้มาเป็นเจ้าอาวาส ได้จัดการก่อสร้างกุฏิสงฆ์เพิ่มเติม สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง พระอุโบสถ 1 หลัง และตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมสอนทั้งแผนกธรรม และบาลี สวนเขตวิสุงคามสีมาของวัดนั้นเดิมคงจะมีอยู่ตามแนวเขต ในพัทธสีมาสลักด้วยหินทรายโบราณซึ่งยังมีอยู่ทั้ง 8 ใบ จนถึงปีพ.ศ.2496 จึงได้รับพระราชทานวิสุงคาม สีมาใหม่ และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2497

ต่อมาในปีพ.ศ.2510 กรมศิลปากรได้ซ่อม แซมบูรณะพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หลังพระอุโบสถได้ขุดพบกรุ ซึ่งมีเสาศิลาแลงขนาดกว้างประมาณ 70 ซ.ม. สูง 60 ซ.ม. ซ้อนกันอยู่ 2 ก้อน และมีไหแบบสุโขทัยขนาดเล็ก และใหญ่ ตั้งอยู่ล้อมรอบเสาศิลาแลงหลายใบ ภายในไหบรรจุทั้งพระพุทธรูปและพระเครื่องเนื้อชินเงินเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบเครื่องถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์หมิง และรูปปั้นคน รูปสัตว์ต่างๆ มีโถสังคโลก ตลับทองคำจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญได้พบลานทองจารึกอักษรไทยโบราณม้วนอยู่ในท้องหมูสัมฤทธิ์ 1 แผ่น และอยู่ในไหอีก 2 แผ่น รวมเป็น 3 แผ่น จากการสำรวจพระที่ขุดพบ ปรากฏว่าได้พระพุทธรูป 900 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยา แต่ล้อแบบศิลปะสกุลช่างสมัยต่างๆ ก่อนหน้าเป็นส่วนมาก ในส่วนที่เป็นพระเครื่องส่วนมากเป็นพระเนื้อชินเงิน ที่เป็นเนื้อดินเผาก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก เมื่อคัดแยกประเภทแล้ว ได้พระเครื่องแบบต่างๆ กว่า 30 แบบ เช่น พระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู พระร่มโพธิ์ พระว่านหน้าทอง พระว่านหน้าเงิน พระซุ้มอรัญญิก พระซุ้มเรือนแก้ว พระท่ามะปรางค์ พระฝักดาบ พระนางพญาเพชรบูรณ์ และพระนาคปรกพิมพ์ต่างๆ เป็นต้น พระเครื่องที่พบทั้งหมด กรมศิลปากรได้นำมาออกให้ประชาชนเช่าบูชา โดยกำหนดราคาแตกต่างกันไป ปรากฏว่าพระร่วงเปิดโลกซุ้มประตูเป็นพิมพ์ที่กรมกำหนดราคาเช่าไว้สูงกว่าพระพิมพ์อื่นๆ

พระร่วงพิมพ์นี้นับว่าสวยงาม พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ทอดลงมาข้างลำพระองค์ พระบาทแยกออกหันพระปราษณี (ส้นเท้า) เข้าหากัน ประทับอยู่ในซุ้มประตู ต้นเสาลายก้างปลา ด้านบนซุ้มประดับลายกระหนกเครือนาคคู่ มีลายกระจังตาอ้อยอยู่ยอดบนสุด นับว่าเป็นศิลปะสกุลช่างอยุธยาที่สละสลวยงดงามมาก สังเกตดูจากสถาปัตยกรรมขององค์พระเจดีย์ เป็นแบบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงสุโขทัย สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยกรุงสุโขทัยยุคปลาย แต่พระพุทธรูปและพระเครื่องที่พบนั้นกลับพบเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยายุคต้น จึงทำให้สันนิษฐานต่อได้ว่าคงมีการบูรณปฏิสังขรณ์ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา

พระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู เนื้อพระเป็นเนื้อชินเงิน บางองค์มีสนิมขุมและรอยระเบิดบางแห่ง คราบดินกรุฝังตัวอยู่ตามผิวทั่วๆ ไป ทางด้านพุทธคุณมีพร้อมทั้งส่งเสริมอำนาจบารมี ความเจริญก้าวหน้า เมตตามหานิยมและแคล้วคลาดครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปองค์พระเจดีย์ และรูปพระร่วงเปิดโลกซุ้มประตูมาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ



ชมรมพระเครื่อง แทน ท่าพระจันทร์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น